Categories:

สารพันปัญหา “ค่าลดหย่อน” ตอนที่ ๑

1.  ชื่อเรื่อง  :  สามีไม่มีเงินได้ภริยานำไปหักลดหย่อนได้

          คำถาม  :  ภริยามีเงินได้ แต่สามีไม่มีเงินได้ หักลดหย่อนอย่างไร และแจ้งว่ารวมหรือแยกยื่น

          คำตอบ  :  ภริยาหักลดหย่อนฐานะผู้มีเงินได้ 30,000 บาทและหักลดหย่อนสามีได้อีก 30,000 บาทรวมเป็น 60,000 บาทและในการยื่นแบบให้แจ้งสถานะคู่สมรสไม่มีเงินได้


2.  ชื่อเรื่อง  :  ภริยาจดคณะบุคคลไม่มีเงินได้อื่น สามีนำมาหักลดหย่อนได้

          คำถาม  :  ภริยาจดคณะบุคคลกับบุตรผู้เยาว์ แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีสามารถนำภริยามาหักลดหย่อนกรณีภริยาไม่มีเงินได้ได้หรือไม่

          คำตอบ  :  ได้ กรณีภริยาจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคล เงินได้ของคณะบุคคลต้องไปเสียภาษีในนามคณะบุคคล และเงินส่วนแบ่งกำไรจากคณะบุคคลที่มิใช่คณะบุคคลก็ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากภริยาไม่มีเงินได้จากแหล่งเงินได้อื่น ก็ถือว่าภริยาไม่มีเงินได้ สามีสามารถนำมาหักลดหย่อนในฐานะคู่สมรสของผู้มีเงินได้จำนวน 30,000 บาท


3.  ชื่อเรื่อง  :  บุตร 4 คน และบุตรคนแรกเสียชีวิต ให้หักลดหย่อนบุตรได้เฉพาะบุตรที่ยังมีชีวิต

          คำถาม  :  มีบุตร 4 คน เกิดหลัง พ.ศ. 2522 คนแรกตาย นำบุตรคนที่ 4 มาหักลดหย่อนได้หรือไม่

          คำตอบ  :  หักได้ หากบุตรคนที่ 4 เป็นบุตรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการหักลดหย่อนเพราะการนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ตาม มาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร


4.  ชื่อเรื่อง  :  บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ หักลดหย่อนเพื่อการศึกษาไม่ได้

          คำถาม  :  บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ สามารถนำมาหักลดหย่อนบุตรและการศึกษาบุตรได้หรือไม่

          คำตอบ  :  การหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาของบุตรจำนวน 2,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเป็นการศึกษากับโรงเรียนหรือสถานศึกษาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาของทางราชการหรือเอกชน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นอุดมศึกษา และหากศึกษาอยู่ในชั้นอุดมศึกษา (อนุปริญญาขึ้นไป รวมถึงหลักสูตรเนติบัณฑิต) ต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี

          ดังนั้น บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ จึงสามารถหักลดหย่อนในฐานะบุตร ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เพียงคนละ 15,000 บาท แต่ไม่สามารถหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาบุตร จำนวน 2,000 บาท ได้ ตามมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร


5.  ชื่อเรื่อง  :  บุตรจบการศึกษาระหว่างปีนำมาหักลดหย่อนได้

          คำถาม  :  สามีภริยาสามารถนำบุตรที่ไม่มีเงินได้และจบการศึกษาระหว่างปีมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

          คำตอบ  :  การหักลดหย่อนบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร


6.  ชื่อเรื่อง  :  มารดาไม่มีเงินได้ บิดาใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนมารดาในฐานะคู่สมรส บุตรผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูมารดาได้

          คำถาม  :  สามีมีเงินได้ แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีได้นำภริยามาหักค่าลดหย่อน 30,000 บาท ในฐานะคู่สมรส บุตรมีเงินได้ได้นำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีอีก 30,000 บาท กรณีนี้สามารถหักค่าลดหย่อนในฐานะคู่สมรสและฐานะมารดาของผู้มีเงินได้ ใช่หรือไม่

          คำตอบ  :  บุตรมีเงินได้สามารถนำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีได้อีก 30,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)


7.  ชื่อเรื่อง  :  บิดามารดาตายในระหว่างปีภาษีนำมาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้

          คำถาม  :  กรณีบิดามารดาถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี(เช่น ตายในเดือนกันยายน 2549) หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 บุตรจะใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดามารดาได้หรือไม่

          คำตอบ  :  กรณีบิดามารดาตายในระหว่างปีภาษี หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ให้บุตรเพียงคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิหักลดหย่อนได้โดยแนบ แบบ ล.ย.03 และสำเนาใบมรณบัตร พร้อมกับการยื่นแบบฯ


8.  ชื่อเรื่อง  :  บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวนำมาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้

          คำถาม  :  กรณีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว บุตรสามารถนำมาหักลดหย่อนคนละ 30,000 บาท ได้หรือไม่ ถ้าได้จะใช้หนังสือทะเบียนต่างด้าวใช่หรือไม่ เพราะคนต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน

          คำตอบ  :  การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดาหรือมารดาที่เป็นคนต่างด้าว หากเข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) และได้ขอมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ใช้เป็นหลักฐานประกอบการหักลดหย่อนได้


9.  ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนคู่สมรส บุตรและบุพการีที่อยู่ต่างประเทศ ของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศ

          คำถาม  :  ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานบริษัทในไทยเกิน 180 วัน มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ภริยา บุตร บุพการี อยู่ต่างประเทศไม่มีเงินได้ บุตรเรียนหนังสือที่ต่างประเทศและบุพการีอายุเกิน 60 ปี มีสิทธิหักลดหย่อนภริยา บุตร และบุพการี ได้เท่าใด

          คำตอบ  :  กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเกิน 180 วัน ถือว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย สามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ไม่ว่าภริยาจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศและสามารถหักลดหย่อนบุตรได้ ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศแต่หากบุตรศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศให้หักลดหย่อนเสมือนบุตรที่มิได้ศึกษา ทั้งนี้ ตามมาตรา 47(1)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

          สำหรับการหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) โดยบิดามารดาจะต้องมีเลขประจำตัวประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ด้วย หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาได้


10.  ชื่อเรื่อง  :  บุตรพิการมีเงินได้เกิน 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้

          คำถาม  :  นาย ก. ทำงานมีเงินได้จากเงินเดือนจดทะเบียนสมรสกับภริยา ซึ่งเป็นคนพิการ และไม่มีเงินได้ มีบุตรพิการ อายุ 19 ปี บุตรพิการมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำปีละ 16,000 บาท ภริยาและบุตรได้รับบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นาย ก.จะนำภริยาและบุตรซึ่งเป็นคนพิการดังกล่าวมาหักลดหย่อนในปีภาษี 2552 ได้อย่างไร

          คำตอบ  :  นาย ก.สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภริยาและบุตร ซึ่งเป็นคนพิการ ในปีภาษี 2552 ได้ ดังนี้

                    1.  ลดหย่อนภริยาในฐานะคู่สมรสไม่มีเงินได้ จำนวน 30,000 บาท ตามมาตรา 47(1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการในฐานะคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ซึ่งเป็นคนพิการได้อีกจำนวน 60,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร

                    2.  ลดหย่อนบุตร จำนวน 15,000 บาท ไม่ได้ เนื่องจากบุตรมีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ เกินกว่า 15,000 บาท ต่อปี ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการในฐานะบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ซึ่งเป็นคนพิการ และมีเงินได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท ได้จำนวน 60,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182)

                    อย่างไรก็ตาม ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการจะต้องแนบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.0๔) และสำเนาบัตรประจำตัวคนพิการที่แสดงให้เห็นชื่อผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ดูแลคนพิการ


11.  ชื่อเรื่อง  :  ลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อ

          คำถาม  :  ในปี 2550 นาย ก. ทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดินกับธนาคาร โดยธนาคารกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้กู้จะต้องทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองสินเชื่อของธนาคาร ระยะเวลาประกัน 20 ปี กับบริษัทประกันชีวิตในไทย และผู้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ตามภาระหนี้สินที่ผูกพัน เมื่อ นาย ก. ชำระเบี้ยประกัน ได้รับใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัย แบบคุ้มครองสินเชื่อ ดังกล่าว และได้รับหนังสือรับรองการประกันภัย เพื่อเป็นหลักฐานและถือเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันชีวิต นาย ก. สามารถนำใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

          คำตอบ  :  เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวทำในปี 2550 และมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป รวมทั้งทำกับบริษัทผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร จึงเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต นาย ก. สามารถนำใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร


12.  ชื่อเรื่อง  :  สมรสระหว่างปี คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่มีเบี้ยประกันชีวิตนำมาหักลดหย่อนไม่ได้

          คำถาม  :  นาย ก มีเงินได้จากการขายของ สมรสระหว่างปี คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ทำก่อนสมรส นาย ก สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

          คำตอบ  :  ปีที่ทำการสมรส นำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนไม่ได้ เนื่องจากความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี แต่ปีถัดไปสามารถนำมาหักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท เนื่องจากความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร


13.  ชื่อเรื่อง  :  กรมธรรม์ประกันชีวิตของบุตรและบิดามารดา นำมาหักลดหย่อนไม่ได้

          คำถาม  :  ผู้มีเงินได้ทำประกันชีวิตให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะและบิดาสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

          คำตอบ  :  เบี้ยประกันชีวิตของบุตรและบิดา ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เนื่องจาก ตามมาตรา 47(1)(ง)แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้หักลดหย่อนเบี้ยประกันที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้เท่านั้น


14.  ชื่อเรื่อง  :  ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 หลายฉบับ เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิต

          คำถาม  :  นาย ก. ทำกรมธรรม์ประกันชีวิต กำหนดเวลา 10 ปี กับบริษัทผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 และวันที่ 1 เมษายน 2552 และมีเงื่อนไขจะได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์เป็นรายปี ต่อมา ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวจากกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้ง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่ฉบับที่ 2 เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และเมื่อรวมกันแล้วเกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี นาย ก. จะต้องนำเงินได้ที่ได้รับทั้งหมดไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร

          คำตอบ  :  1. ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิต มิได้เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับเงินได้ดังกล่าวทั้งกรณีที่ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์เกิน และไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

                          2. สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป การใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(61) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ผู้มีเงินได้จะต้องได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ตามข้อ 2(2)(ก) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) ดังนั้น เมื่อ นาย ก. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนฯ จากกรมธรรม์ประกันชีวิต ฉบับที่ 2 เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และเมื่อรวมกับผลประโยชน์ตอบแทนฯ จากกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกแล้วเกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี นาย ก. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกเท่านั้น นาย ก. ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมปรับปรุงค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตเกินไป เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมของปีภาษีนั้น พร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172)


15.  ชื่อเรื่อง  :  ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำปี 2552 หลายฉบับ แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิต

          คำถาม  :  นาย ก. ทำกรมธรรม์ประกันชีวิต กำหนดเวลา 10 ปี กับบริษัทผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 และวันที่ 1 เมษายน 2552 และมีเงื่อนไขจะได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์เป็นรายปี ต่อมา ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวจากกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้ง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่ฉบับที่ 2 เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี นาย ก. จะต้องนำเงินได้ที่ได้รับทั้งหมดไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร

          คำตอบ  :  1. ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิต มิได้เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับเงินได้ดังกล่าวทั้งกรณีที่ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์เกิน และไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

                        2. สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป การใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(61) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ผู้มีเงินได้จะต้องได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ตามข้อ 2(2)(ก) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) ดังนั้น ถึงแม้ว่า นาย ก. จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนฯ จากกรมธรรม์ประกันชีวิต ฉบับที่ 2 เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่เมื่อรวมกับผลประโยชน์ตอบแทนฯ จากกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกแล้วไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี นาย ก. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามปกติ ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม


16.  ชื่อเรื่อง  :  เอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานในการหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต

          คำถาม  :  ชำระเบี้ยประกันชีวิตกรมธรรม์ 20 ปี ยังไม่ได้รับหนังสือรับรองการจ่ายเงินจากบริษัทประกันชีวิต จะนำใบเสร็จรับเงินแต่ละงวดมาหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

          คำตอบ  :  เบี้ยประกันชีวิตที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้และได้มีการประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร โดยกรมธรรม์มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ผู้มีเงินได้ย่อมมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตดังกล่าวเป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษี


17.  ชื่อเรื่อง  :  ลักษณะการประกันสุขภาพบิดามารดา

          คำถาม  :  การประกันสุขภาพบิดามารดา ต้องมีลักษณะอย่างไร จึงจะได้รับยกเว้นเงินได้

          คำตอบ  :  การประกันสุขภาพบิดามารดา ต้องมีลักษณะ ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) ดังนี้

                    1. การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

                    2. การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก

                    3. การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)

                    4. การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)


18.  ชื่อเรื่อง  :  หลักฐานการยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

          คำถาม  :  การใช้สิทธิ์ยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาต้องแสดงหลักฐานอะไรบ้าง

          คำตอบ  :  ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อย ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีฯ

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) ดังนี้

                    1. ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย

                    2. ชื่อ และ นามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)

                    3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้เอาประกันภัย

                    4. จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพตามข้อ 2

                    5. จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

 

 

 

 

ที่มา : กรมสรรพากร

Tags:

No responses yet

ใส่ความเห็น