Categories:

สารพันปัญหา “ค่าลดหย่อน” ตอนที่ ๒

19.  ชื่อเรื่อง  :  เงินสะสมกองทุนเงินสะสมสมทบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสะสมทรัพย์หักลดหย่อนไม่ได้

          คำถาม  :  มหาวิทยาลัยออกระเบียบว่าด้วยกองทุนเงินสะสมสมทบสำหรับพนักงานและลูกจ้าง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสะสมทรัพย์ สร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยมหาวิทยาลัยจะหักเงินเดือนของพนักงานทุกครั้งที่จ่ายเพื่อนำส่งเข้ากองทุน พนักงานสามารถนำเงินสะสมดังกล่าวไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีได้หรือไม่

          คำตอบ  :  พนักงานไม่มีสิทธินำเงินสะสมที่ถูกหักไว้ไปลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินสะสมตามระเบียบของมหาวิทยาลัยไม่เข้าลักษณะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


20.  ชื่อเรื่อง  :  ภริยามีเงินได้หลายประเภทซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF

          คำถาม  :  ภริยามีเงินได้ประเภทเงินเดือนและเงินปันผล สามีมีเงินเดือนอย่างเดียว การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน RMF และ LTF ของภริยาจะซื้อได้ อัตราร้อยละ 15 จากเงินได้เงินเดือนรวมกับเงินปันผลหรือไม่ เนื่องจากเงินปันผลต้องถือเป็นเงินได้ของสามี

          คำตอบ  :  การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน RMF และ LTF เป็นสิทธิของผู้มีเงินได้ เมื่อภริยาเป็นผู้มีเงินได้ แม้จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของสามี สิทธิดังกล่าวยังเป็นของภริยาอยู่เช่นเดิม ภริยาสามารถซื้อได้ตามสัดส่วนของเงินได้ของตนเอง


21.  ชื่อเรื่อง  :  ผู้สูงอายุซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF

          คำถาม  :  การยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่หักได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้นั้น คำนวณจากเงินได้หลังหรือก่อนหักการยกเว้นภาษีกรณีเงินได้สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ และเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

          คำตอบ  :  กรณีซื้อหน่วยลงทุนใน (RMF) หรือ (LTF) ที่ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีให้ยกเว้นได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินก่อนหักยกเว้นภาษี กรณีผู้มีเงินได้อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน


22.  ชื่อเรื่อง  :  ค่าซื้อพันธบัตรรัฐบาล นำมาหักลดหย่อนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้

          คำถาม  :  ซื้อพันธบัตรรัฐบาล สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่

          คำตอบ  :  ไม่ได้ แต่ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) และ (ฉบับที่ 171)


23.  ชื่อเรื่อง  :  สามีมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 และภริยากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้าน หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้คนละกึ่งหนึ่ง

          คำถาม  :  สามีมีเงินได้จากเงินเดือนทั้งปี จำนวน 30,000 บาท และภริยามีเงินได้จากเงินเดือนทั้งปี จำนวน 120,000 บาท ภริยาทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านกับธนาคารและผ่อนชำระเงินกู้เพียงผู้เดียว ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ภริยาสามารถหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวเพียงผู้เดียวทั้งจำนวน และสามีไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ถูกต้องหรือไม่

          คำตอบ  :  สามีภริยามีเงินได้เฉพาะ ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียวเกิน จำนวน 100,000 บาท มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ตามมาตรา 56(4) แห่งประมวลรัษฎากร หากสามีมิได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งสามารถลดได้โดยการเปรียบเทียบปรับ ตามมาตรา 3 ทวิ(1) แห่งประมวลรัษฎากร

                           สำหรับการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม หากความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ภริยาและสามีมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้คนละครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(9) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) และได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2(53) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับข้อ 2(9)(ค) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166)


24.  ชื่อเรื่อง  :  ภริยาไม่มีเงินได้ทำสัญญากู้ยืมเงินคนเดียว สามีไม่มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

          คำถาม  :  นาง ม. ภริยาของนาย ธ. ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารเพียงคนเดียว โดยนาย ธ. มิได้เป็นผู้กู้ร่วม และนาง ม. ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในปีภาษี 2550-2551 ต่อมาในปีภาษี 2552 นาง ม.ไม่มีเงินได้ นาย ธ. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวได้หรือไม่

          คำตอบ  :  หากนาย ธ. มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วม นาย ธ.ย่อมมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ แต่เมื่อนาย ธ. มิได้มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมกับนาง ม. จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามข้อ 2(8) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) ดังนั้น ในปีภาษี 2552 นาย ธ. จึงไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร


25.  ชื่อเรื่อง  :  หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อผู้กู้ร่วม 2 คน

          คำถาม  :  หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อผู้กู้ร่วม 2 คน จะหักลดหย่อนอย่างไร

          คำตอบ  :  กรณีผู้มีเงินได้ 2 คนร่วมกันกู้ยืมเงิน ให้หักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ได้คนละกึ่งหนึ่ง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่าย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ.2550) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165), (ฉบับที่ 166), (ฉบับที่ 167)


26.  ชื่อเรื่อง  :  โอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่ปี 2552 ที่มีการจ่ายค่างวดบางส่วนในปี 2551 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะเงินที่จ่ายใน ปี 2552

          คำถาม  :  นาย ก. ประกอบกิจการรับจ้าง ซื้อบ้านใหม่จากบริษัทเจ้าของโครงการ ราคาบ้าน 2,000,000 บาท ตกลงซื้อบ้านเมื่อเดือนตุลาคม 2551 โดยจ่ายเงินจองวันทำสัญญาเป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท และต้องจ่ายเงินดาวน์ จำนวน 480,000 บาท ซึ่งแบ่งจ่าย 12 งวดๆ ละ 40,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกเดือนพฤศจิกายน 2551 รวมชำระเงินดาวน์ ในปี 2551 ทั้งสิ้น 2 เดือน เป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท เงินดาวน์อีก 10 งวด ชำระตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2552 เป็นจำนวนเงินรวม 400,000 บาท เงินส่วนที่เหลือ 1,400,000 บาท นาย ก. ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารเดือนพฤศจิกายน 2552 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ในเดือนดังกล่าว นาย ก.จะใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้ค่าซื้อบ้านดังกล่าวอย่างไร

          คำตอบ  :  การยกเว้นเงินได้ค่าซื้อบ้านใหม่ สำหรับปีภาษี 2552 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178) นาย ก. ต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าของโครงการที่ขายบ้านว่าได้มีการจ่ายเป็นค่าซื้อบ้านดังกล่าวในปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นเงินดาวน์ที่จ่ายในปี 2552 จำนวน 400,000 บาทและเงินที่กู้จากธนาคารเพื่อจ่ายเป็นค่าซื้อบ้านอีกจำนวน 1,400,000 บาท โดยหนังสือรับรองฯ ต้องมีข้อความอย่างน้อยตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ ฉบับดังกล่าว


27.  ชื่อเรื่อง  :  ทำสัญญาซื้อบ้านใหม่คนเดียวแต่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ 2 คน ในปี 2552 ได้รับยกเว้นเงินได้ค่าซื้อบ้านเฉพาะผู้มีหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

          คำถาม  :  บิดามีเงินได้ทำสัญญาซื้อบ้านใหม่กับเจ้าของโครงการ และมีการจ่ายค่าซื้อ รวมทั้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2552 โดยระบุชื่อบิดาและบุตรซึ่งเป็นผู้มีเงินได้เช่นกัน บิดาได้รับหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้อบ้านใหม่ที่เจ้าของโครงการระบุชื่อบิดาเป็นผู้ซื้อ บิดาและบุตรจะหักลดหย่อนค่าซื้อบ้านที่ได้รับยกเว้นเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท อย่างไร

          คำตอบ  :  สิทธิการยกเว้นเงินได้ค่าซื้อบ้านใหม่ สำหรับปี ภาษี 2552 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท นั้น ผู้ใช้สิทธิต้องเป็นผู้มีเงินได้ ซื้อบ้านใหม่ มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ และมีหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จากผู้ขาย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2522) ประกอบกับข้อ 1(1) และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178)

                          ดังนั้น เมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ 2 คน ซึ่งเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวม บิดาและบุตรจึงมีสิทธิได้รับยกเว้นเงินได้ตามส่วนของกรรมสิทธิ์แต่รวมกันทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 300,000 บาท แต่เนื่องจากบิดามีหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้อฯ เพียงคนเดียว บิดาจึงมีสิทธิหักลดหย่อนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามส่วนของกรรมสิทธิ์ของตนเท่านั้น


28.  ชื่อเรื่อง  :  ซื้อบ้านใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2552 ไม่ได้รับยกเว้นเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

          คำถาม  :  นาย ก. ประมูลซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ในราคา 800,000 บาท จากเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายให้กับประชาชนทั่วไป แต่สิ่งปลูกสร้างยังสร้างไม่เสร็จ หากจะทำการก่อสร้างต่อต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 การซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จดังกล่าว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวนเงิน 300,000 บาท หรือไม่

          คำตอบ  :  เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างยังก่อสร้างไม่เสร็จ จึงยังไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ แต่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นแล้ว ดังนั้น เงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ. 2552)

                           อย่างไรก็ตาม หากได้ทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และพร้อมอยู่อาศัยได้ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 เงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท


29.  ชื่อเรื่อง  :  คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม

          คำถาม  :  กรณีภริยาไม่มีเงินได้ แต่เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม สามีสามารถนำเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่ภริยาชำระ มารวมหักลดหย่อนภาษีเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่ตนชำระด้วยได้หรือไม่

          คำตอบ  :  ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้ด้วยสำหรับเงินสมทบของสามีหรือภริยาที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 7,200 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร


30.  ชื่อเรื่อง  :  ข้อแตกต่างในการหักลดหย่อนระหว่างเงินบริจาคและการบริจาคเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา

          คำถาม  :  ใบอนุโมทนาบัตรเขียนว่า “มอบเงินเพื่อเป็นเจ้าภาพบรรพชาสามเณรและถวายทุนการศึกษา” ของโรงเรียนวัดรัฐบาล ถือเป็นเงินบริจาคหรือสนับสนุนเพื่อการศึกษา

          คำตอบ  :  ถือว่าเป็นเงินบริจาค ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาต้องเป็นการจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและเป็นค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547


31.  ชื่อเรื่อง  :  บริจาคเงินเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนหักลดหย่อนเงินบริจาคไม่ได้

          คำถาม  :  นาย ก. บริจาคเงินเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ตามหลักสูตรโครงการภาคภาษาอังกฤษของโรงเรียนของบุตรตามจำนวนที่โรงเรียนกำหนด และโรงเรียนออกใบเสร็จรับเงิน โดยใช้ใบเสร็จรับเงินในราชการสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประทับชื่อโรงเรียนในช่องรายการ ที่ทำการ และออกในนามผู้ปกครองและชื่อเด็กนักเรียน ซึ่งระบุรายการว่า เงินบริจาคเพื่อพัฒนาโรงเรียน ปีการศึกษา 2551 นาย ก. สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาจำนวน 2 เท่าได้หรือไม่

          คำตอบ  :  การบริจาคเงินให้สถานศึกษา ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 476) พ.ศ.2551 พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

                    1. การบริจาคเงินให้สถานศึกษาทุกกรณีที่จะสามารถนำมายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจ และไม่เป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือมีเงื่อนไขผูกพันที่จะให้ประโยชน์ต่อผู้ใดโดยเฉพาะ

                    2. ต้องเป็นการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ ตามรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด สำหรับรายการดังต่อไปนี้

                              (1) จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

                              (2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

                              (3) จัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเป็นทุนการศึกษาการประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา

                    3. ใบเสร็จรับเงิน สถานศึกษาที่ได้รับบริจาคต้องออกใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาเท่านั้น โดยระบุรายการบริจาคตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคให้ชัดเจน เช่น บริจาคเพื่อสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือวัสดุอุปกรณ์ แบบเรียน ตำรา ให้เป็นส่วนกลางของการศึกษานั้น เป็นต้น

                    ดังนั้น การบริจาคเงินเพื่อพัฒนาโรงเรียนของบุตรดังกล่าว เป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายตามหลักสูตรโครงการภาคภาษาอังกฤษที่โรงเรียนบังคับจัดเก็บเป็นจำนวนเงินแน่นอนจากนักเรียนทุกคน แม้ว่าจะมีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาระบุว่า เป็นเงินบริจาคก็ไม่ถือเป็นเงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว และไม่เป็นเงินบริจาคที่จะสามารถนำไปลดหย่อน ในร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร


32.  ชื่อเรื่อง  :  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้

          คำถาม  :  นาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 มีเงินภาษีต้องชำระ จำนวน 500 บาท แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ต่อมาต้องการเปลี่ยนพรรคการเมืองที่ได้แสดงความประสงค์ไว้ สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เพิ่มเติม เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใหม่ได้หรือไม่

          คำตอบ  :  ไม่ได้ เมื่อผู้เสียภาษีแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใดแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลง ตามข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 176)

                    อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียภาษียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ฉบับปกติ ไม่ได้แสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใด ต่อมาผู้เสียภาษีมีความประสงค์จะแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติม เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้

 

 

 

 

ที่มา : กรมสรรพากร

Tags:

No responses yet

ใส่ความเห็น