Categories:

สรรพากรชูนโยบายใหม่ตรวจเข้มภาษีรายเดือน ไล่เช็กบิลพวกตกแต่งตัวเลข

 

     เปิดกลยุทธ์ถอนขนห่านปีเสือ “กรมสรรพากร” ชูนโยบายใหม่ให้ผู้ประกอบการยื่นตรวจสอบภาษีรายเดือน เดินหน้าเข็นใบอนุญาตผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากรแนวใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ช่วยให้การจัดเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ภาคเอกชนโอดเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายจ้างผู้สอบบัญชีเพิ่มขึ้น

     นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกลยุทธ์การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2553 ว่า ปีนี้ยังคงใช้หลักการเดิม คือพยายามขยายฐานภาษี โดยการนำผู้ที่อยู่นอกระบบภาษีเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยจะใช้ฐานข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐมาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกรมสรรพากร ส่วนผู้เสียภาษีที่อยู่ในระบบแล้วก็จะต้องเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งทางกรมสรรพากรได้เตรียมเจ้าหน้าที่ไว้บริการผู้เสียภาษีเป็นรายธุรกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้เสียภาษีในกลุ่มของนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัทห้างร้าน

     ส่วนแผนการขยายฐานจัดเก็บภาษีแนวใหม่นั้น นายวินัยกล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังศึกษาจะออกใบอนุญาตให้กับผู้ตรวจสอบรับรองทางภาษีอากร (Certificate Public Tax Accountant) เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบหรือตรวจทานความถูกต้องแทนกรมสรรพากร โดยจะเข้าไปดูเฉพาะรายการภาษีอากรซึ่งจะต้องเซ็นรับรองกันทุกเดือน ถือเป็นอีกใบอนุญาตหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับการตรวจสอบรับรองบัญชีงบการเงินประจำปี

     “ในปีนี้กรมสรรพากรจะดึงบริษัทผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเข้ามามีส่วนร่วม โดยจะจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสำนักงานตรวจสอบบัญชีที่มีอยู่ทั่วประเทศ 40,000 แห่ง ออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามประวัติความน่าเชื่อถือ กรณีที่ผู้เสียภาษีไปใช้บริษัทผู้สอบบัญชีที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือมีความเสี่ยงสูง ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบดูแลอย่างใกล้ชิด”

     โดยที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ทำหนังสือไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าอธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจที่จะออกใบอนุญาตตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาทางสภาวิชาชีพบัญชีท้วงติงถึงอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรในกรณีดังกล่าว

     แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังกระทรวงการคลังแล้วว่า มีอำนาจที่จะออกใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งไม่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.วิชาชีพนักบัญชีฯ สำหรับใบอนุญาตผู้ตรวจสอบรับรองบัญชีภาษีอากรมีความแตกต่างกับใบอนุญาตผู้ตรวจสอบรับรองบัญชีงบการเงินที่ว่า ใบอนุญาตผู้ตรวจสอบรับรองบัญชีภาษีอากรจะดูแลตรวจสอบเฉพาะรายการภาษี และจะต้องเซ็นรับรองบัญชีกันทุกเดือน ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียภาษีมีค่าใช่จ่ายเพิ่มขึ้นและผู้สอบบัญชีก็มีงานเพิ่มขึ้นด้วย เพราะต้องไปตรวจรับรองบัญชีกันทุกเดือน

     อย่างไรก็ตาม กรณีนี้กรมสรรพากรไม่ได้บังคับให้ทุกนิติบุคคลต้องใช้บริการผู้สอบบัญชีภาษีทุกเดือน แต่จะเป็นการสมัครใจของผู้ประกอบการ ซึ่งกรมสรรพากรกำลังคิดมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้เสียภาษีหันมาใช้บริการ เช่น อาจจะมีการคืนภาษีเร็วขึ้นหรือไม่ต้องตรวจสอบจากกรมสรรพากร เพราะมีผู้สอบบัญชีภาษีอากรช่วยกลั่นกรองความถูกต้องให้แล้ว เพราะกรณีดังกล่าวจะช่วยลดทอนการทำงานของกรมสรรพากรไปได้ แต่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ใช้บริการก็อาจจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเลี่ยงภาษี ซึ่งกรมสรรพากรก็อาจจะมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

     ทั้งนี้ผลการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 จัดเก็บได้ 230,136 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,474 ล้านบาท หรือสูงกว่าประมาณการ 13% ซึ่งกรมสรรพากรคาดว่าปีนี้จะสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 10-20% ของประมาณการรายได้ที่ 1.098 ล้านล้านบาท ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการเพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2554 ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดกรอบวงเงินรายจ่ายไว้ที่ 2-2.1 ล้านล้านบาท รายได้ 1.65 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณประมาณ 3.5 ล้านล้านบาทนั้น ในปีงบประมาณ 2554 กรมสรรพากรได้รับมอบหมายให้จัดเก็บภาษี 1.35-1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85% ของรายได้รัฐบาล และเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 3 แสนล้านบาท

     ด้านนายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหาร บริษัทที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตนได้ทราบแนวความคิดการออกใบอนุญาตดังกล่าวของกรมสรรพากรมาก่อนหน้าแล้ว ซึ่งทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระในการจ้างผู้ตรวจสอบภาษีอากรมากลั่นกรองรายการภาษีที่จะต้องยื่นกรมสรรพากรทุกเดือน ทำให้มีต้นทุนแต่คิดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีมากนักเมื่อเทียบกับการจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีงบการเงินที่แพงกว่า แต่ทั้งนี้ถ้ากรมสรรพากรออกใบอนุญาตให้กับผู้ตรวจสอบภาษีอากรจำนวนมาก ก็จะทำให้ค่าจ้างถูกลง

     นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากรจะมีขอบเขตความรับผิดชอบภาษีอากรมากน้อยเพียงใด อาทิ กรณีผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากรเข้ามาตรวจแล้วไม่พบรายการที่ปกปิดไว้ แต่กรมสรรพากรกลับตรวจสอบพบเอง ซึ่งกรณีนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้เสียภาษีกับผู้ตรวจสอบ เพราะถ้าความผิดนี้ตกอยู่กับผู้ตรวจสอบก็จะไม่มีบริษัทใดมายื่นขอใบอนุญาตดังกล่าว เพราะค่าจ้างต่ำแต่ต้องรับผิดชอบสูง ดังนั้นจึงขึ้นกับว่าควรวางคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากรไว้เป็นอย่างไร เพราะถ้ากำหนดคุณสมบัติเข้มงวดจะทำให้มีผู้ตรวจสอบดังกล่าวจำนวนน้อย แต่ถ้าคุณสมบัติหย่อนยานก็จะทำให้ผู้ตรวจสอบไม่พบความผิดปกติ

     “ประเด็นผู้ตรวจสอบมือไม่ถึง ก็จะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่ออกใบอนุญาตที่ต้องการให้กลั่นกรองความถูกต้องของการเสียภาษีของบริษัท” นายถาวรกล่าว

     ด้านนางสุวรรณา พุทธประสาท กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาให้บริษัทนิติบุคคลต้องยื่นตรวจสอบบัญชีภาษีทุกเดือน เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับภาคเอกชน โดยกรณีของควอลิตี้ เฮ้าส์ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายการยื่นตรวจสอบบัญชีประจำปีแล้ว จะต้องว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบงบฯสอบทานเพื่อแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯทุกไตรมาส รวมปีละ 4 ครั้ง เบ็ดเสร็จมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ปีละ 1-2 ล้านบาท
ถ้ามีการออกระเบียบให้ต้องยื่นตรวจสอบบัญชีทุกเดือน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าเท่าตัวเป็นปีละ 2-4 ล้านบาท ประกอบกับกรมสรรพากรก็อาจมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันในการตรวจสอบหลักฐานเพื่อขอเคลมภาษีธุรกิจเฉพาะก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบนานประมาณ 2 ปี จึงเห็นว่าในกรณีนี้กรมสรรพากรอาจใช้วิธีให้บริษัทนิติบุคคลต้องแสดงงบฯสอบทานเป็นรายไตรมาสแทนการยื่นตรวจสอบบัญชีทุกเดือน

 

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553 เวลา 13:35:38 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ http://www.prachachat.net/news_detail.phpnewsid=1263710347&grpid=00&catid=no

Tags:

No responses yet

ใส่ความเห็น