การอุทธรณ์ภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร

1.  การอุทธรณ์ภาษีอากร คืออะไร?

          การอุทธรณ์ภาษีอากร เป็นกระบวนการยุติธรรมอย่างหนึ่งที่กฎหมายประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ถูกประเมินภาษีสามารถใช้สิทธิคัดค้านการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินที่ผู้ถูกประเมินภาษีเห็นว่าไม่ถูกต้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ 

2.  การอุทธรณ์ภาษีอากร จะต้องทำอย่างไร?

          หากต้องการคัดค้านการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมิน ผู้ถูกประเมินภาษีจะต้องยื่นคำอุทธรณ์เป็นหนังสือโดยใช้แบบคำอุทธรณ์ตามที่อธิบดีกำหนด ซึ่งสามารถยื่นคำอุทธรณ์เป็นรายฉบับตามหนังสือแจ้งการประเมิน หรือรวมยื่นคำอุทธรณ์ฉบับเดียวสำหรับหนังสือ แจ้งการประเมินหลายฉบับก็ได้ โดยระบุให้ชัดแจ้งว่าอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีประเภทใด เดือน/ปี ภาษีใด ตามหนังสือแจ้งการประเมินฉบับใดและเป็นจำนวนเงินภาษีเท่าใด และสิ่งสำคัญที่ต้องระบุคือไม่เห็นด้วยกับการประเมินในประเด็นใด พร้อมทั้งให้เหตุผลทุกประเด็น และแสดงเอกสารหลักฐานประกอบเหตุผลนั้นด้วย

3.  แบบคำอุทธรณ์ที่อธิบดีกำหนด ได้แก่แบบใดบ้าง?

          – แบบคำอุทธรณ์ (ภ.ส.6) ใช้ได้กับ การอุทธรณ์ ทุกกรณี
          – แบบคำอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีอากร (กศก.171) ใช้เฉพาะการอุทธรณ์เพื่อคัดค้านการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินกรมศุลกากร โดยผู้ถูกประเมินภาษี จะยื่นคำอุทธรณ์ที่กรมสรรพากร หรือกรมศุลกากรก็ได้
          แบบคำอุทธรณ์ทั้ง 2 แบบ ผู้ถูกประเมินภาษีสามารถพิมพ์ได้จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th หรือจะขอรับได้ที่หน่วยงานสรรพากรทั่วราชอาณาจักร หรือแบบคำอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีอากร (กศก.171) จะขอรับได้จากกรมศุลกากรทั่วราชอาณาจักรได้ด้วย

4.  ผู้ถูกประเมินภาษีจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อใคร?

          ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนกรมการปกครอง

          สำหรับในต่างจังหวัด ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน สรรพากรภาคหรือผู้แทน และอัยการจังหวัดหรือผู้แทน

5.  ยื่นอุทธรณ์ได้ที่ไหน?

          (1) ในเขตกรุงเทพมหานคร

                    (1.1) กรณีเจ้าพนักงานประเมินสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 2 3 4 5 และ 6 เป็นผู้ประเมินภาษี ให้ยื่นคำอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น ๆ หรือสำนักงานสรรพากรภาค 1

                    (1.2) กรณีเจ้าพนักงานประเมินสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 7 8 9 10 และ 11 เป็นผู้ประเมินภาษี ให้ยื่นคำอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น ๆ หรือสำนักงานสรรพากรภาค 2

                    (1.3) กรณีเจ้าพนักงานประเมินสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 12 13 14 15 และ 16 เป็นผู้ประเมินภาษีให้ยื่นคำอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น ๆ หรือสำนักงานสรรพากรภาค 3

                    (1.4) กรณีเจ้าพนักงานประเมินสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่เป็นผู้ประเมินภาษี หรือ เจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเป็น ผู้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้เสียภาษีอากรที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นอุทธรณ์ ณ ส่วนอุทธรณ์ภาษี สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่

                    (1.5) กรณีเจ้าพนักงานประเมินสำนักตรวจสอบภาษีกลาง หรือคณะทำงานหรือหน่วยงานอื่นที่อธิบดีแต่งตั้งเป็นผู้ประเมินภาษี หรือเจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้เสียภาษีอากรที่มิใช่ ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นอุทธรณ์ ดังนี้

                              (1.5.1) ผู้ถูกประเมินภาษีที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 2 3 4 5 6 และสำนักงานสรรพากรภาค 4 5 ให้ยื่นคำอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรภาค 1

                              (1.5.2) ผู้ถูกประเมินภาษีที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 7 8 9 10 11 และสำนักงานสรรพากรภาค 7 8 9 10 ให้ยื่น คำอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรภาค 2

                              (1.5.3) ผู้ถูกประเมินภาษีที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 12 13 14 15 16 และสำนักงานสรรพากรภาค 6 11 12 ให้ยื่น คำอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรภาค 3

          (2) กรณีคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินสำนักงานสรรพากรพื้นที่อื่นๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรภาค 4 5 6 7 8 9 10 11 หรือ 12 ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น ตามแผนภูมิโครงสร้างหน่วยงานกรมสรรพากร

          (3) กรณีคัดค้านการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรภาคที่รับผิดชอบท้องที่นั้น

          (4) กรณีคัดค้านการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากร ผู้ถูกประเมินภาษีจะยื่นคำอุทธรณ์ ณ สถานที่ตาม (1) หรือ (3) โดยใช้แบบ ภ.ส.6 หรือแบบ กศก.171 ก็ได้ หรือจะใช้แบบ กศก.171 ยื่นได้ที่กรมศุลกากร ด่านศุลกากรหรือสำนักงานศุลกากรภาคก็ได้

การอุทธรณ์ภาษีอากร

6.  การยื่นอุทธรณ์มีกำหนดเวลาหรือไม่ อย่างไร?

          ผู้จะใช้สิทธิอุทธรณ์จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าพนักงานประเมิน เช่น

                    – ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินวันที่ 2 ตุลาคม 2545 จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หรือ

                    – ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินวันที่ 4 ตุลาคม 2545 จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2545 แต่เนื่องจากวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2545 เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ได้ เป็นต้น

7.  หลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์มีอะไรบ้าง?

          (1) หนังสือแจ้งการประเมินหรือแบบคำสั่งให้ชำระภาษีอากรฉบับที่ต้องการคัดค้านการประเมิน โดยเป็นต้นฉบับหรือภาพถ่ายที่รับรองสำเนาถูกต้อง

          (2) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถูกประเมินภาษี กรณีเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการพร้อมประทับตรานิติบุคคลกำกับการลงชื่อของผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล

          กรณีมิได้มายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง ให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจกระทำการโดยปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ถ้ากระทำการครั้งเดียว หรือถ้ากระทำการมากกว่าหนึ่งครั้งปิดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อรับรองว่าสำเนาถูกต้อง

          (3) ภาพถ่ายทะเบียนบ้าน

          (4) หลักฐานอื่นๆ ที่ได้อ้างประกอบคำอุทธรณ์ เช่น ภ.พ.20 หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) รายงานภาษีซื้อ-ขาย สำหรับเดือนภาษีที่ถูกประเมิน ใบกำกับภาษี ฯลฯ

8.  เมื่อยื่นอุทธรณ์แล้วจะใช้อะไรเป็นหลักฐาน?

          หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจคำอุทธรณ์และเอกสารแล้ว จะออกใบรับคำอุทธรณ์เพื่อมอบให้ผู้ยื่นอุทธรณ์ไว้เป็นหลักฐานในการติดตามเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป

9.  ผลการพิจารณาอุทธรณ์เป็นอย่างไร?

          คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะพิจารณาและวินิจฉัยข้อโต้แย้งตามคำอุทธรณ์เมื่อแล้วเสร็จจะส่งผลเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) ให้แก่ผู้ยื่นอุทธรณ์ ดังนี้

          1. ให้ปลดภาษี เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง ในกรณีนี้ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องเสียภาษีตามการประเมิน

          2. ให้ลดภาษี เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการประเมินบางส่วนถูกต้อง และบางส่วนไม่ถูกต้อง จึงปรับปรุงจำนวนภาษีให้คงเหลือเท่าที่ผู้อุทธรณ์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมให้ครบถ้วน

          3. ให้ยกอุทธรณ์ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการประเมินถูกต้องแล้ว ซึ่งผู้อุทธรณ์ต้องเสียภาษีตามการ ประเมิน

          4. ให้เพิ่มภาษี เนื่องจากได้พิจารณาประเด็นการประเมินและข้อโต้แย้งของผู้อุทธรณ์แล้วปรากฏว่าการประเมินถูกต้อง แต่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีคลาดเคลื่อนต่ำไป คณะกรรมการฯ อาจปรับปรุงการคำนวณภาษีและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์เสียภาษีเพิ่มขึ้นได้

10. หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ควรทำอย่างไร?

          ผู้อุทธรณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาล โดย ให้ยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีมูลหนี้ภาษีอากรตั้งค้างอยู่ต่างจังหวัด ให้ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดนั้นก็ได้

11. หากจะใช้สิทธิอุทธรณ์ ผู้ถูกประเมินภาษีมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามการประเมิน หรือไม่?

          ในระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือรอคำพิพากษาของศาล ผู้ถูกประเมินภาษีต้องชำระภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย เนื่องจากการอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ได้รับการทุเลาการเสียภาษีตามประเมินแต่อย่างใด เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร หรือ ผู้ที่อธิบดีมอบหมายให้มีอำนาจสั่งอนุมัติให้ทุเลาการชำระภาษีไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

12. หากจะยังไม่ชำระภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จะต้องทำอย่างไร?

          ต้องยื่นคำร้องขอทุเลาการชำระภาษีต่ออธิบดีกรมสรรพากร โดยยื่นผ่านทางหน่วยงานที่มีหน้าที่รับคำอุทธรณ์ พร้อมทั้งจัดให้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนี้

          (1) ให้ธนาคารค้ำประกันหนี้ภาษีอากรพร้อมทั้งเงินเพิ่มที่ต้องชำระตามกฎหมายโดยให้ธนาคารออกหนังสือสัญญาค้ำประกันตามแบบที่กรมสรรพากรกำหนด หรือ

          (2) นำอสังหาริมทรัพย์มาค้ำประกัน โดยจดทะเบียนจำนองไว้ต่อทางราชการ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องมีราคาตลาดหรือราคาที่ใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม(ราคาประเมินของกรมที่ดิน) ไม่น้อยกว่าค่าภาษีอากรที่ต้องชำระหรือ

          (3) นำพันธบัตรรัฐบาลในจำนวนที่คุ้มกับหนี้ภาษีอากรค้างมาจดทะเบียนจำนำเป็นประกัน

          (4) นำสมุดเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์ของผู้อุทธรณ์ ซึ่งมียอดเงินฝากคุ้มกับหนี้ภาษีอากรที่ต้องชำระมาให้ยึดเป็นประกัน โดยต้องมีหนังสือยินยอมของผู้อุทธรณ์ให้ระงับการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการจำหน่าย จ่าย โอน เงินในบัญชีเงินฝากประจำที่นำมาค้ำประกัน และหนังสือของธนาคารรับรองยอดเงินฝากและยืนยันการปลอดภาระผูกพัน พร้อมทั้งแจ้งผลการระงับการทำนิติกรรมเพื่อกรมสรรพากรจากธนาคารพาณิชย์

          (5) นำอสังหาริมทรัพย์หรือพันธบัตรรัฐบาลของบุคคลอื่น มาจดทะเบียนจำนองหรือจดทะเบียนจำนำเป็นประกันหนี้ภาษีอากรที่ต้องชำระบางส่วน ในกรณีนี้เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากรบางส่วนของผู้อุทธรณ์ กรมสรรพากรมีสิทธิที่จะเร่งรัดหนี้ภาษีอากรที่ต้องชำระในส่วนที่ไม่มีหลักประกันได้ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร

13.  ถ้าผู้ถูกประเมินภาษีไม่สามารถยื่นคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาจะต้องดำเนินการอย่างไร?

          ให้ทำคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการยื่นคำอุทธรณ์เป็นหนังสือ โดยแสดงรายละเอียดต่างๆ ประกอบด้วย ชื่อผู้ยื่นคำร้อง ประเภทภาษีอากร ปีภาษี/เดือนภาษี/รอบระยะเวลาบัญชี เลขที่หนังสือแจ้งการประเมิน วันที่ที่ลงในหนังสือแจ้งฯ จำนวนเงินภาษี วัน เดือน ปีที่ผู้ถูกประเมินภาษีได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน วัน เดือน ปีที่ยื่นคำอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงและเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นคำอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลา พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐาน(ถ้ามี) และคำอุทธรณ์เพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ การอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นคำอุทธรณ์เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดี

 

ที่มา : บทความจากกรมสรรพากร

บทความที่น่าสนใจ
สรรพากรตรวจเข้มภาษีรายเดือน ไล่เช็คบิลพวกแต่งตัวเลข

Tags:

No responses yet

ใส่ความเห็น