Categories:

สารพันปัญหาค่าลดหย่อนภาษี ภงด.90 ภงด.91

สารพันปัญหา “ค่าลดหย่อน”


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อน กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้

     คำถาม  :  คู่สมรสได้ลาออกจากงานแล้วจะขอหักลดหย่อนคู่สมรสในปีถัดจากปีที่ลาออกได้หรือไม่

     คำตอบ  :  หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ในปีภาษีที่ยื่นแบบฯสามารถนำมาหักลดหย่อนได้


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนคู่สมรส บุตรและบุพการีที่อยู่ต่างประเทศ ของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศ

     คำถาม  :  ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานบริษัทในไทยเกิน 180 วัน มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ภริยา บุตร บุพการี อยู่ต่างประเทศไม่มีเงินได้ บุตรเรียนหนังสือที่ต่างประเทศและบุพการีอายุเกิน 60 ปี มีสิทธิหักลดหย่อนภริยา บุตร และบุพการี ได้เท่าใด

     คำตอบ  :  กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเกิน 180 วัน ถือว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย สามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ไม่ว่าภริยาจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศและสามารถหักลดหย่อนบุตรได้ ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศแต่หากบุตรศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศให้หักลดหย่อนเสมือนบุตรที่มิได้ศึกษา ทั้งนี้ ตามมาตรา 47(1)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

     สำหรับการหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) โดยบิดามารดาจะต้องมีเลขประจำตัวประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ด้วย หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาได้


ชื่อเรื่อง  :  สามีไม่มีเงินได้ภริยานำไปหักลดหย่อนได้

     คำถาม  :  ภริยามีเงินได้ แต่สามีไม่มีเงินได้ หักลดหย่อนอย่างไร และแจ้งว่ารวมหรือแยกยื่น

     คำตอบ  :  ภริยาหักลดหย่อนฐานะผู้มีเงินได้ 30,000 บาทและหักลดหย่อนสามีได้อีก 30,000 บาทรวมเป็น 60,000 บาทและในการยื่นแบบให้แจ้งสถานะคู่สมรสไม่มีเงินได้


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนบุตร กรณีมีบุตร 4 คน และบุตรคนแรกเสียชีวิต

     คำถาม  :  มีบุตร 4 คน เกิดหลัง พ.ศ. 2522 คนแรกตาย นำบุตรคนที่ 4 มาหักลดหย่อนได้หรือไม่

     คำตอบ  :  หักได้ หากบุตรคนที่ 4 เป็นบุตรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการหักลดหย่อนเพราะการนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ตาม มาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนบุตร กรณีหย่าระหว่างปีภาษี

     คำถาม  :  สามีภริยามีบุตร 2 คน กำลังศึกษาอยู่ ในระหว่างปีภาษีจดทะเบียนหย่าโดยมีข้อตกลงระบุให้บุตรอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสามี แต่ในทางปฏิบัติภริยายังคงส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูจะหักลดหย่อนบุตรอย่างไร

     คำตอบ  : 

                    1. ในปีที่หย่าถือว่าสามีภริยาอยู่ด้วยกันไม่ตลอดปีภาษี ให้หักลดหย่อนบุตรคนละกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 47(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                    2. ปีถัดไปสามีภริยาต่างฝ่ายต่างอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้หักลดหย่อนบุตร ได้ฝ่ายละเต็มจำนวน ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร


ชื่อเรื่อง  :  บุตรมีเงินได้เกิน 15,000 บาทหักลดหย่อนไม่ได้

     คำถาม  :  บุตรอายุ 18 ปี เปิดร้านขายของเป็นกิจการของตนเอง มีเงินได้ต่อปี              งบประมาณ 200,000 บาท ยื่นแบบในนามตนเองแล้ว บิดาสามารถนำบุตรมาหักค่าลดหย่อนได้หรือไม่

     คำตอบ  :  หักค่าลดหย่อนบุตรไม่ได้ เนื่องจากบุตรมีเงินได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ตามมาตรา 47 (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตของบุตรและบิดามารดา

     คำถาม  :  ผู้มีเงินได้ทำประกันชีวิตให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะและบิดาสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

     คำตอบ  :  เบี้ยประกันชีวิตของบุตรและบิดา ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เนื่องจาก ตามมาตรา 47(1)(ง)แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้หักลดหย่อนเบี้ยประกันที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้เท่านั้น


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต กรณีการประกันชีวิตที่มีสัญญาประกันสุขภาพและสัญญาประกันอุบัติเหตุแนบท้าย

     คำถาม  :  กรณีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตซึ่งมีสัญญาประกันสุขภาพและสัญญาประกันอุบัติเหตุแนบท้าย จะนำค่าเบี้ยประกันทั้งจำนวนมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

     คำตอบ  :  กรณีจ่ายเบี้ยประกันชีวิต ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง)แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นเงินได้ตามที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ตามข้อ 2(61) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126(พ.ศ.2509) สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพ ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน หรือได้รับยกเว้นภาษีเงินได้


ชื่อเรื่อง  :  หลักฐานการยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

     คำถาม  :  การใช้สิทธิ์ยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาต้องแสดงหลักฐานอะไรบ้าง

     คำตอบ  :  ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อย ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีฯเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) ดังนี้

                    1. ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย

                    2. ชื่อ และ นามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)

                    3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้เอาประกันภัย

                    4. จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพตามข้อ 2

                    5. จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้


ชื่อเรื่อง  :  การลดหย่อนและยกเว้นเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

     คำถาม  :  เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีทั้งลดหย่อนและได้รับการยกเว้น หมายความว่าอย่างไร

     คำตอบ  :  เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก สามารถนำไปหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนที่สอง สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 290,000 บาท ยังสามารถนำไปเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นได้อีก ตามข้อ 2(35) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ กรณีหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อผู้กู้ร่วม 2 คน

     คำถาม  :  หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อผู้กู้ร่วม 2 คน จะหักลดหย่อนอย่างไร

     คำตอบ  :  กรณีผู้มีเงินได้ 2 คนร่วมกันกู้ยืมเงิน ให้หักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ได้คนละกึ่งหนึ่ง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ.2550) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165), (ฉบับที่ 166), (ฉบับที่ 167)


ชื่อเรื่อง  :  ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

     คำถาม  :  บุคคลธรรมดา 3 คนร่วมกันกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อบ้านเป็นที่อยู่อาศัย โดย 1 ใน 3 คน ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน สิ้นปีธนาคารออกหนังสือรับรองการจ่ายดอกเบี้ยฯ ของผู้กู้ทั้ง 3 คน คนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านสามารถหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมฯ ได้หรือไม่

     คำตอบ  :  ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อบ้านที่อยู่อาศัยหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 โดยไม่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นไป ทั้งนี้กรมสรรพากรได้ยกเลิกหลักเกณฑ์การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของผู้มีเงินได้ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 101) และ (ฉบับที่ 166)


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา กรณีบิดาได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนมารดาในฐานะคู่สมรส

     คำถาม  :  กรณีสามีมีเงินได้แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีได้นำภริยามาหักลดหย่อนในฐานะคู่สมรสและฐานะมารดาของผู้มีเงินได้ ใช่หรือไม่

     คำตอบ  :  บุตรมีเงินได้ สามารถนำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีได้อีก 30,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา กรณีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว

     คำถาม  :  กรณีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว บุตรสามารถนำมาหักลดหย่อนคนละ 30,000 บาท ได้หรือไม่ ถ้าได้จะใช้หนังสือทะเบียนต่างด้าวใช่หรือไม่ เพราะคนต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน

     คำตอบ  :  การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดาหรือมารดาที่เป็นคนต่างด้าว หากเข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) และได้ขอมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ใช้เป็นหลักฐานประกอบการหักลดหย่อนได้


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา กรณีบิดามารดาตายในระหว่างปีภาษี

     คำถาม  :  กรณีบิดามารดาถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี(เช่น ตายในเดือนกันยายน 2549) หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 บุตรจะใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดามารดาได้หรือไม่

     คำตอบ  :  กรณีบิดามารดาตายในระหว่างปีภาษี หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ให้บุตรเพียงคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิหักลดหย่อนได้โดยแนบ แบบ ล.ย.03 และสำเนาใบมรณบัตร พร้อมกับการยื่นแบบฯ


ชื่อเรื่อง  :  ความหมายของเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา

     คำถาม  :  ในการคำนวณภาษี (ก) ข้อ 8 ตามแบบ ภ.ง.ด.91 เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา หมายถึงอะไร

     คำตอบ  :  เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา หมายถึง เงินที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบและเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ

                    1. จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน ที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

                    2. จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษาฯ โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อนเงินบริจาค กรณีใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อผู้จ่ายเงินและครอบครัว

     คำถาม  :  นาย ก. บริจาคเงินให้วัดไทย และ ได้รับใบอนุโมทนาบัตร ที่ระบุชื่อ นาย ก. และครอบครัว จะนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

     คำตอบ  :  นาย ก. สามารถนำเงินบริจาคดังกล่าวมาหักลดหย่อนในนามของนาย ก. ได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือจากการหักลดหย่อนตามกรณีต่างๆ แล้ว ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร


ชื่อเรื่อง  :  หลักเกณฑ์ การหักลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

     รายละเอียด  :  หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท (ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม)

     กรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนด้วยสำหรับเงินสมทบของสามีหรือภริยาที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าว ตามมาตรา 47(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร


ชื่อเรื่อง  :  การหักลดหย่อน กรณีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง

     คำถาม  :  ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง มีสิทธินำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

     คำตอบ  :  ไม่ได้ การซื้อหน่วยลงทุนที่จะได้รับสิทธินำมาหักลดหย่อน ต้องเป็นการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เท่านั้น

 

 

ที่มา : บทความจากกรมสรรพากร

 

Tags:

No responses yet

ใส่ความเห็น