มีอะไรใหม่ ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษี 2552
1. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ
ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้ คนละ 60,000 บาท และต้องมีหลักฐานดังนี้
กรณีหักลดหย่อนคนพิการ
(1) หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.๐๔)
(2) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของบุคคลที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อน พร้อมทั้งภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าวในส่วนที่แสดงว่า ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กรณีหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ
(1) ใบรับรองแพทย์ จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า บุคคลที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อนมีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไป อันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน และใบรับรองแพทย์ดังกล่าวต้องออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน
(2) หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.0๔-๑) ที่รับรองว่า ผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุคคลที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อน โดยผู้รับรองต้องเป็นสามีภริยาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมหรือหลาน หรือบิดามารดา หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา ของบุคคลดังกล่าว หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลที่เป็นสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ที่บุคคลดังกล่าวอยู่อาศัย โดยหนังสือรับรองดังกล่าว ผู้รับรองต้องรับรองในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน ตามมาตรา 47(1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182)
2. ค่าเบี้ยประกันชีวิต
ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีค่าเบี้ยประกันชีวิตได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(61) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172)
สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต และผู้รับประกันภัยต้องระบุเพิ่มเติม หากมีกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน และผู้มีเงินได้ไม่สามารถนำค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมมาหักลดหย่อนได้
(2) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์
3. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (โดยรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชนแล้ว) ตามข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) และต้องมีหลักฐานจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่แสดงได้ว่า มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552
4. ค่าซื้อหน่วยลงทุนใน/กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ตามข้อ 2(66) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) และต้องมีหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่แสดงได้ว่า มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมหุ้นระยะยาว ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพื่อการยกเว้นเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หุ้นระยะยาว ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552
5. ค่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นค่าซื้ออาคารดังกล่าว ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับค่าซื้ออาคารดังกล่าว ที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ. 2552) ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178)
6. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 7,200 บาท ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ตามมาตรา 47(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
7. การคำนวณภาษีที่ต้องเสีย
กรณีผู้มีเงินได้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(2) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ 60,000 บาท ขึ้นไป คูณด้วยอัตราร้อยละ 0.5 หากมีเงินภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 5,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 480) พ.ศ.2552
ตัวอย่าง การคำนวณภาษีที่ต้องเสีย ตามคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 480) มีดังนี้
ตัวอย่างที่ 1 ในปีภาษี 2552 นาย ก. เป็นผู้มีเงินได้จากการขายของ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวนทั้งสิ้น 800,000 บาท
การคำนวณภาษีที่ต้องเสีย
วิธีที่ 1 เงินได้พึงประเมินหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้ หรือเรียกว่า อัตราก้าวหน้า ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมิน 800,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายเหมาในอัตราร้อยละ 80 640,000 บาท
หัก ลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
คงเหลือ เงินได้สุทธิ 130,000 บาท
หัก เงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก (ได้รับยกเว้นภาษี) 150,000 บาท
คงเหลือ เงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษี – บาท
มีภาษีต้องเสียจำนวน (ในอัตราร้อยละ 10) – บาท
วิธีที่ 2 เงินได้พึงประเมินคูณด้วยอัตราร้อยละ 0.5 หรือเรียกว่า พันละห้า ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมิน 800,000 บาท
คูณอัตราภาษีร้อยละ 0.5 คิดเป็นภาษีที่ต้องเสียจำนวน 4,000 บาท
ดังนั้น ในปีภาษี 2552 นาย ก. ได้รับยกเว้นภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2 และไม่มีภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตัวอย่างที่ 2 ในปีภาษี 2552 นาย ข. เป็นผู้มีเงินได้จากการขายของ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวนทั้งสิ้น 1,000,000 บาท
การคำนวณภาษีที่ต้องเสีย
วิธีที่ 1 เงินได้พึงประเมินหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้ หรือเรียกว่า อัตราก้าวหน้า ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมิน 1,000,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายเหมาในอัตราร้อยละ 80 800,000 บาท
หัก ลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
คงเหลือ เงินได้สุทธิ 170,000 บาท
หัก เงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก (ได้รับยกเว้นภาษี) 150,000 บาท
คงเหลือ เงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษี 20,000 บาท
มีภาษีต้องเสียจำนวน (ในอัตราร้อยละ 10) 2,000 บาท
วิธีที่ 2 เงินได้พึงประเมินคูณด้วยอัตราร้อยละ 0.5 หรือเรียกว่า พันละห้า ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมิน 1,000,000 บาท
คูณอัตราภาษีร้อยละ 0.5 คิดเป็นภาษีที่ต้องเสียจำนวน 5,000 บาท
ดังนั้น ในปีภาษี 2552 นาย ข. ต้องเสียภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 จำนวน 2,000 บาท
ตัวอย่างที่ 3 ในปีภาษี 2552 นาย ค. เป็นผู้มีเงินได้จากการขายของ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษี 2552 จำนวนทั้งสิ้น 1,100,000 บาท
การคำนวณภาษีที่ต้องเสีย
วิธีที่ 1 เงินได้พึงประเมินหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้ หรือเรียกว่า อัตราก้าวหน้า ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมิน 1,100,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายเหมาในอัตราร้อยละ 80 880,000 บาท
หัก ลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
คงเหลือ เงินได้สุทธิ 190,000 บาท
หัก เงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก (ได้รับยกเว้นภาษี) 150,000 บาท
คงเหลือ เงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษี 40,000 บาท
มีภาษีต้องเสียจำนวน (ในอัตราร้อยละ10) 4,000 บาท
วิธีที่ 2 เงินได้พึงประเมินคูณด้วยอัตราร้อยละ 0.5 หรือเรียกว่า พันละห้า ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมิน 1,100,000 บาท
คูณอัตราภาษีร้อยละ 0.5 คิดเป็นภาษีที่ต้องเสียจำนวน 5,500 บาท
ดังนั้น ในปีภาษี 2552 นาย ค. ต้องเสียภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2 จำนวน 5,500 บาท
8. การกรอกรายการในใบแนบ ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2552
กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ
ในใบแนบดังกล่าวได้เพิ่มส่วนเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ให้ผู้มีเงินได้ระบุเงินได้ที่ได้รับยกเว้น เพื่อเป็นฐานในการคำนวณการซื้อหน่วยลงทุน เช่น เงินได้ฯ ที่ข้าราชการได้รับตามโครงการเกษียณก่อนกำหนด
ที่มา : กรมสรรพากร
No responses yet